ตะลุยลูกหนังขาสั้น ตอนที่ 3 “Exclusive Interview with  Mr. Hans R. Emser”

ตะลุย ยุทธจักรลูกหนังขาสั้น ในขอนแก่น สู้สู้ ฉบับต้อนรับปีใหม่ 2557 ได้รับเกียรติจากสุดยอดโค้ชชาวเยอรมัน มร ฮานส อาร์ เอมเซอร์ (Hans R Emser) ผู้มีประสบการณ์ทางด้านฟุตบอลในฐานะผู้เล่น และ ผู้ฝึกสอน จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาฟุตบอลแบบยั่งยืน

 

ในระดับเยาวชนของประเทศเยอรมัน ซึ่ง ครูอั๋น คิกออฟ หวังว่าข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ จะมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างฟุตบอลเยาวชนในบ้านเราไม่มากก็น้อย

IMG-20140104-05010

บทสัมภาษณ์พิเศษ:

ครูอั๋น คิกออฟ    :         ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณ มร ฮานส ที่สละเวลาส่วนตัวในการมาเที่ยวขอนแก่นช่วงเทศกาลปีใหม่ รับนัด และ ให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้

มร. ฮานส        :         ผมยินดีเสมอ ที่จะช่วยพัฒนาวงการฟุตบอลในทุกโอกาส

ครูอั๋น คิกออฟ : บทสัมภาษณ์ในวันนี้ เนื้อหาจะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนที่เป็นระบบในบ้านเกิดของคุณ ก่อนอื่นคุณช่วยอธิบายถึงโครงสร้างของฟุตบอลเยาวชนในประเทศเยอรมัน

มร.:  ต้องย้อนกลับไปปี 2000 ด้วยผลงานที่ย่ำแย่ของทีมชาติเยอรมัน ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (EURO 2000) ทำให้สมาคมฟุตบอลเยอรมัน ทำการปรับโครงสร้างฟุตบอลทั้งระบบใหม่ และ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้นได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ให้วงการฟุตบอลเยาวชนในเยอรมัน ก็คือ การกำหนดให้ทุกสโมสรฟุตบอลในระดับบุนเดสลีกา เอ และ บี จะต้องมีการสร้างทีมในระดับเยาวชน

ครูอั๋น คิกออฟ : การเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ได้สร้างทีมในระดับเยาวชนมากมายในเยอรมัน ซึ่งจะมีผลต่อทีมชาติเยอรมันในอนาคตอย่างแน่นอน แต่อย่างไรก็ตาม สมาคมฟุตบอลเยอรมัน จะต้องมีขบวนการ หรือ วิธีการในการบริหารจัดการกับทีมเยาวชนของแต่ละสโมสร เพื่อให้ผู้อ่านนิตยสารขอนแก่น สู้สู้ เข้าใจมากขึ้น รบกวน มร. ฮานส ช่วยอธิบายถึงการบริหารจัดการของสมาคมฟุตบอลเยอรมัน

มร.:  ขอบคุณสำหรับคำถามนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาฟุตบอลเยาวชนที่แท้จริง สมาคมฟุตบอลเยอรมัน ได้วางแผนการพัฒนาเป็น 2 ระยะ ดังนี้

1. การพัฒนาโครงสร้างทีมเยาวชนในปี 2000 – 2001 (Academy Structure Development)  ซึ่งเป็นแผนการระยะเริ่มต้นของการพัฒนาทีมเยาวชน ดังนี้

– สโมสรฟุตบอลในระดับบุนเดสลีกา เอ และ บี จะต้องมีทีมเยาวชนตั้งแต่ชุดเยาวชน 11ปีจนถึง19 ปี

– ผู้อำนวยการทีมเยาวชน จะต้องผ่านการอบรมระดับ ยูฟ่า โปร ไลเซนส์ (UEFA PRO License)

– ผู้ฝึกสอน จะต้องผ่านการอบรมระดับ ยูฟ่า  บี ไลเซนส์ (UEFA B License)

– ผู้ช่วยผู้ฝึกสอน จะต้องผ่านการอบรมระดับ ยูฟ่า  ซี ไลเซนส์ (UEFA C License)

– สนามฝึกซ้อม 3 สนาม ประกอบด้วย สนามหญ้าจริง 2 สนาม และ สนามหญ้าเทียม 1 สนาม

2. การจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับเยาวชนในปี 2002 (Youth BUNDESLIGA League) หลังจากมีโครงสร้างที่แข้มแข็ง สมาคมฟุตบอลเยอรมันได้ออกระเบียบ โดยกำหนดให้ทุกสโมสร ทั้งลีก เอ และ บี จะต้องส่งทีมเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกระดับเยาวชน ซึ่งจัดการแข่งขันโดยสมาคมฟุตบอลเยอรมัน  โดยมีกฎระเบียบหลักๆ ดังนี้

– จัดให้มีการแข่งขันในระบบลีก แบบเหย้า และ เยือน

– มีการจัดการแข่งขันทุกวันเสาร์ และ อาทิตย์

– ระยะเวลาทำการแข่งขันรวมทั้งสิ้น 8 เดือน ต่อฤดูกาล

ครูอั๋น คิกออฟ : โดยส่วนตัว มร. ฮานส คิดว่าการแข่งขันฟุตบอลเยาวชนแบบลีก เป็นการพัฒนาฟุตบอลแบบยั่งยืนหรือไม่ และ จะเป็นปัจจัยหลักในการสร้างนักฟุตบอลรุ่นใหม่ๆ ที่มีคุณภาพให้กับทีมชาติเยอรมันในอนาคตด้วยอีกทางหนึ่งหรือไม่

มร. ฮานส : แน่นอนที่สุด การที่เยาวชนได้มีโอกาศลงทำการแข่งขันในทัวร์นาเม้นท์แบบลีกนั้น ก็จะเป็นการพัฒนาทักษะในการเล่นฟุตบอล ตลอดจนพัฒนาสภาพจิตใจ และ ด้วยระยะเวลาการแข่งขันต่อฤดูกาลนานถึง 8 เดือน จะทำให้แต่ละสโมสรต้องดำเนินการฝึกซ้อมเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทีมเยาวชนของตนเองประสบความสำเร็จ

นอกจากนั้น สิ่งที่สมาคมฟุตบอลเยอรมัน คาดหวังจากการปรับโครงสร้างในปี 2000 ก็คือ ต้องการผลผลิตรุ่นใหม่ๆ เพื่อป้อนเข้าสู่ทีมชาติเยอรมันต่อไป ซึ่งตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากโครงการนี้ ก็คือ หลังจากความล้มเหลวในปี 2000 ทีมชาติเยอรมัน เริ่มประสบความสำเร็จในเวทีระดับสากลอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นฟุตบอลโลก (อันดับที่ 3 ในปี 2006 และ 2010) หรือ ฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป (อันดับที่ 2 ในปี 2008 และ อันดับที่ 3 ในปี 2012)

ครูอั๋น คิกออฟ    :  สุดท้ายนี้ รบกวน มร. ฮานส พูดถึงทีมชาติเยอรมันชุดปัจจุบัน ที่จะลงสู้ศึกฟุตบอลโลกที่บราซิลในปีนี้

มร. ฮานส : ทีมชาติเยอรมันชุดปัจจุบัน เป็นผลผลิตจากอคาเดมีของแต่ละสโมสร โดยจะยกตัวอย่างนักฟุตบอลที่ผลงานโดดเด่น เช่น โธมัส มุลเลอร์ และ ฟิลลิป ลามส์ จากบาเยิร์นมิวนิค อคาเดมี หรือ มาริโอ เกิทเซ่ และ มาร์โก้ รอยซ์ จาก โบรุสเซียดอร์ทมุนด์ อคาเดมี

จากการที่ผ่านการแข่งขันฟุตบอลระดับลีก ตั้งแต่ระดับเยาวชน ทำให้ผู้เล่นแต่ละคน มีความพร้อม  และ มีประสบการณ์มากพอ ทั้งนี้ ชาวเยอรมันคาดหวังกับทีมชาติเยอรมันชุดนี้ ในศึกฟุตบอลโลกที่บราซิล เป็นอย่างมาก เพราะ สามารถผ่านรอบคัดเลือกด้วยสถิติไม่แพ้ใคร ตลอดจน อายุเฉลี่ยของผู้เล่นน้อยมากเมื่อเทียบกับทีมชาติอื่นๆ คือ  26 ปี และ ผ่านการเล่นฟุตบอลระดับนานาชาติร่วมกันมาหลายปี

ก่อนจากกัน ครูอั๋น คิกออฟ หวังว่าข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ในครั้งนี้ จะมีส่วนในการพัฒนาโครงสร้างฟุตบอลเยาวชนในบ้านเราไม่มากก็น้อย และ ขอให้เยาวชนทุกคน ตั้งใจฝึกซ้อม และ รักษาสุขภาพในช่วงฤดูหนาวนี้

ประวัติ มร. ฮานส อาร์ เอมเซอร์

–         สัญชาติ เยอรมัน

–         ผู้ฝึกสอนระดับ ยูฟ่า โปร ไลเซนส์ (UEFA PRO License)

–         อดีตนักฟุตบอลอาชีพ ในบุนเดสลีกา บี

–         อดีตนักฟุตบอลเยาวชนทีมชาติเยอรมัน

–         อดีตผู้ฝึกสอน ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ชุดเยาวชน 17 ปี

–         อดีตผู้ช่วยผู้ฝึกสอน ทีมชาติเยอรมัน ชุดเยาวชน 17 ปี

–         อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอน สโมสร บางกอกกล๊าส เอฟซี ( ผลงานไม่แพ้ 13 นัดติดต่อ ในฟุตบอลไทยพรีเมียร์ลีก ปี 2009)

–         อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอน ทีมชาติไทย ชุดเยาวชน 13 ปี (ปี 2013)

–         ปัจจุบันผู้อำนวยการทีมเยาวชน สโมสรบางกอกกล๊าส เอฟซี (BG Academy Director)

 

 

Loading

Comments แสดงความคิดเห็น

comments

Powered by Facebook Comments