วิทยาศาสตร์การกีฬา คืออะไร?       

ต้นกำเนิดของวิทยาศาสตร์กีฬาในประเทศไทย เริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 2435 เมื่อครั้งที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเดินทางกลับจากการศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ โดยได้มีการบรรยายในหัวข้อเรื่องการออกกำลังกายในโรงเรียนฝึกหัดครู

จนกระทั่ง ปีพ.ศ. 2493 เป็นปีที่วิชาทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเริ่มมีการเรียนการสอน จากนั้นศ ดร.ราฟ จอนสัน (Raph Johnson) ศาสตราจารย์ชาวอเมริกัน ได้จัดให้มีการเรียนการสอนในรายวิชากายวิภาคศาสตร์ (Anatomy )และสรีรวิทยา (Physiology) เพิ่มเติมจากหลักสูตรเดิม ณ ปัจจุบันพัฒนาการของกีฬาในประเทศไทย ได้มีการยกระดับเป็นกีฬาอาชีพมากขึ้นทั้งกีฬาประเภทเดี่ยวและประเภททีม โดยเป้าหมายของการเล่นกีฬาอาชีพสิ่งสำคัญคือชัยชนะในการแข่งขัน ซึ่งการจะได้ชัยชนะมานั้น นักกีฬาจำเป็นจะต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ โดยอาศัยหลักการทางวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

วิทยาศาสตร์การกีฬาคืออะไร? วิทยาศาสตร์การกีฬาคือการรวมกันของคำว่าวิทยาศาสตร์และกีฬา ซึ่งหมายถึงการศึกษาและการประยุกต์ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อจุดประสงค์ในการพัฒนาประสิทธิภาพของการออกกำลังกายหรือกีฬาสู่ความเป็นเลิศโดยอาศัยศาสตร์ต่างๆ ดังต่อไปนี้ ชีวกลศาสตร์ (Biomechanics) เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาการเคลื่อนไหวของมนุษย์ถูกนำมาวิเคราะห์การเคลื่อนไหวในการเล่นกีฬา สรีรวิทยา (Physiology)เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะและระบบต่างๆของร่างกายซึ่งสามารถกระตุ้นและพัฒนาศักยภาพของร่างกายให้ดีขึ้น จิตวิทยา(Psychology)ศาสตร์ที่ว่าด้วยการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ (กระบวนการของจิต), กระบวนความคิด, และพฤติกรรม ของมนุษย์โดยใช้หลักการทางจิตวิทยากระตุ้นความสามารถของนักกีฬา โภชนาการ (Nutrition)ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคอาหารและร่างกายนำสารอาหารไปใช้ เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเจริญเติบโต ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ สร้างภูมิต้านทานโรคและทำให้ร่างกายแข็งแรง

สำหรับนักกีฬาอาชีพ ศาสตร์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเหล่านี้ มีบทบาทเป็นอย่างมากต่อการเพิ่มศักยภาพของนักกีฬาให้มีการพัฒนาจนถึงขีดสุด เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายสูงสุดให้ได้โดยครั้งต่อไป เราจะมาทำความรู้จักกับศาสตร์ต่างๆทางด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในรายละเอียดมากขึ้น โปรดติดตามตอนต่อไป

.

IMG_6724

ดร. อชิระ หิรัญตระกูล
นักวิทยาศาสตร์การกีฬาและนักกายภาพบำบัดประจำทีมขอนแก่น เอฟซี
อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Loading

Comments แสดงความคิดเห็น

comments

Powered by Facebook Comments